ดีเหมือนกันที่มีลูกน้องที่แก่กว่าและมีปัญหา คนที่เป็นหัวหน้าหลายคนมักจะบ่นให้ฟังว่าเบื่อลูกน้องที่มีปัญหา ไม่รู้จะแก้อย่างไร โดยเฉพาะหัวหน้าที่เป็นคนรุ่นใหม่มีวุฒิการศึกษาสูงกว่าและมีลูกน้องที่อายุเยอะกว่า(แก่กว่า) และมีประสบการณ์ในการทำงานมากกว่า ลูกน้องบางคนก็ออกอาการไม่ยอมรับหัวหน้าที่เด็กกว่า บางคนก็ดื้อตาใส(ดูเหมือนยอมโดยอำนาจหน้าที่แต่ลึกๆไม่ยอมรับ) บางคนก็ตีรวนให้หัวหน้าละอ่อนรับไม่ได้ และระเบิดอารมณ์ ออกมาเพื่อเปิดจุดอ่อน หรือไม่ก็หวังจะให้หัวหน้ากระเด็นจากเก้าอี้ ในขณะที่บางคนต้องการให้หัวหน้าเกรงใจและให้ความสำคัญกับตัวเองมากกว่าลูกน้องคนอื่นๆ
ใครก็ตามที่เจอปัญหาแบบนี้ ขอแนะนำว่าอย่าเพิ่งท้อ เพราะชีวิตการทำงานของเรายังมีอีกยาวไกล ลองปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้
- คิดว่าดีเหมือนกันที่จะได้มีโอกาสทดสอบฝีมือในการบริหารคน สิ่งแรกที่ต้องทำคือเปลี่ยนใจเปลี่ยนทัศนคติในการมองลูกน้องแก่แต่หนังเหนียวจากมุมลบมาเป็นมุมบวกก่อน เพราะถ้าเรามองว่าเขาคือปัญหาเขาก็จะสร้างปัญหาให้เราจริงๆ แต่ถ้าเขาสร้างปัญหา แต่เราคิดว่าปัญหานั้นๆคือโจทย์ที่ท้าทายที่เราจะต้องแก้ให้ได้ ก็จะกลายเป็นสิ่งจูงใจให้เราอยากแก้ปัญหายากๆ เหมือนกับการที่เราสามารถแก้โจทย์คณิตศาสตร์ที่ยากๆได้ ตอนที่หาคำตอบไม่ได้ก็อาจจะเบื่อบ้างท้อบ้าง แต่พอเราแก้ไขมันได้แล้วเราจะได้ความภูมิใจที่สูงกว่าการแก้โจทย์ที่ง่ายๆ
- ค่อยๆแก้ไขจากปัญหาเล็กๆเพื่อสร้างกำลังใจสู่การแก้ไขปัญหาใหญ่ ลูกน้องที่มีปัญหาถ้าเรามองชีวิตเขาในภาพรวมเราจะเห็นเฉพาะภาพของปัญหาเท่านั้น แต่เราไม่สามารถรู้ได้ว่าปัญหาในชีวิตเขาทั้งหมดมีกี่เรื่องอะไรบ้าง เรื่องไหนใหญ่ เรื่องไหนเล็ก เรื่องไหนแก้ได้ เรื่องไหนแก้ไขไม่ได้ ดังนั้น ขอให้วิเคราะห์ดูว่าปัญหาของลูกน้องคนนั้นมีอะไรบ้าง เช่น ไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นเวลาอยู่ในที่ประชุม ชอบดักคอเรา(เบรค)อยู่เรื่อยๆ เวลาอยู่ต่อหน้าลูกน้องคนอื่น ดื้อเงียบ ชอบพูดแต่ไม่ทำ ชอบใช้อำนาจกับเพื่อนร่วมงาน ไม่ค่อยชอบทำงานเอกสาร ฯลฯ เมื่อเรารู้ว่าเขามีปัญหาอะไรบ้างแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือเลือกปัญหาเล็กๆที่คิดว่าน่าจะแก้ได้ง่ายมาแก้ไขก่อน เพราะถ้าเราแก้ไขได้เราจะมีกำลังใจที่จะแก้ไขปัญหาต่อๆไปของเขาได้
- ปล่อยให้เจ็บแล้วค่อยช่วย ลูกน้องบางคนอาจจะต้องใช้วิธีเหมือนกับการเลี้ยงลูกคือถ้าห้ามไม่ฟัง และมักจะดันทุรัง ก็ต้องปล่อยให้ได้รับบทเรียนที่เจ็บปวดบ้าง เช่น ปล่อยให้งานหลุดเพื่อให้หน่วยงานอื่นหรือผู้บริหารตำหนิเสียบ้าง(แกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นตอนที่เขาทำงาน) และค่อยเข้ามารับหน้าแทนเมื่อเขาโดนด่า อย่างน้อยเขาก็จะรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณเราบ้าง ถึงแม้ว่าไม่ได้แสดงออกให้เห็นก็ตาม ทำแบบนี้เป็นช่วงๆ (แต่อย่าบ่อยเกินไป จนรู้สึกเป็นแผนของหัวหน้า) ก็น่าจะช่วยลดแรงต้านลงไปได้บ้างนะครับ เพราะแค่เขาไม่พายแต่ก็ไม่เอาเท้าราน้ำ เรือลำน้อยๆของหน่วยงานเราก็น่าจะแล่นได้เร็วขึ้นแล้ว
- จงทำการตลาดผ่านคนสนิทของลูกน้องที่มีปัญหา คนเราทุกคนมักจะมีคนที่เรายอมรับอยู่หลายคน ดังนั้น ลูกน้องที่มีปัญหาก็เช่นกัน เขาต้องมีคนบางคนที่เขายอมรับฟังและเชื่อใจ คนๆนั้นจะพูดอะไรเตือนอะไรก็มักจะฟัง การที่เราจะพูดหรือกระทำอะไรด้วยตัวเอง ต่อให้ทำดีอย่างไร ลูกน้องที่มีปัญหาก็มักจะตัดคะแนนเราในใจอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว ดังนั้น จงพยายามทำการตลาด(สร้างเครดิตตัวเอง)ผ่านคนสนิทหรือคนที่รู้ใจของลูกน้องเรา เพราะอย่างน้อยก็น่าจะช่วยป้องกันไม่ให้คนรู้ใจเขาใส่ไฟเราทางหนึ่ง และอาจจะใช้คนสนิทของเขาสร้างเครดิตให้เราได้บ้าง
สรุป ใครก็ตามที่มีลูกน้องที่แก่กว่าและมีปัญหา กรุณานำแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้ดู ผมเชื่อว่าแค่เปลี่ยนทัศนคติจากลบเป็นบวกก็น่าจะช่วยให้มองเห็นโอกาสและแนวทางในการแก้ไขปัญหาลูกน้องประเภทนี้ได้แล้ว
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น