ความสำเร็จและความล้มเหลวคือจุดเดียวกัน วันนี้มีคนๆหนึ่งมีเงินหนึ่งพันล้าน เราจะถือว่าประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว คนส่วนใหญ่น่าจะตอบว่าประสบความสำเร็จ แต่ถ้าคนๆนั้นคือมหาเศรษฐีของเมืองไทยหรือของโลก เขาอาจจะตอบว่าล้มเหลวก็ได้ เพราะระดับเขาเคยมี ควรจะมี หรือต้องมีอย่างน้อยเป็นหลักหมื่นล้าน ถ้าวันนี้มีคนๆหนึ่งจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) คนส่วนใหญ่จะคิดว่ายังไม่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษา แต่ถ้าคนๆนั้นเป็นคนพิการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการเรียน เขาอาจจะคิดว่านี่คือความสำเร็จสูงสุดในชีวิตของเขาแล้วก็ได้ ถ้าวันนี้คนๆหนึ่งได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นหัวหน้างาน เราจะถือว่าเขาประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือไม่ ถ้าเรารู้ว่าคนๆนี้เขาจบปริญญาโทมาแต่ได้เป็นแค่หัวหน้างาน หรือถ้าเรารู้ว่าคนๆนั้นเขาจบแค่ ป.6 เท่านั้น หรือถ้าเรารู้ว่าคนๆนั้นเป็นลูกเจ้าของบริษัท หรือถ้าเรารู้ว่าคนๆนั้นเป็นคนพิการ หรือถ้าเรารู้ว่าคนๆนั้นทำงานมาเกือบสามสิบปีแล้วก่อนที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ฯลฯ เรายังจะยืนยันว่าเขาประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวหรือไม่ ถ้าเราปีนขึ้นไปอยู่บนยอดเขาสูงประมาณ 1000 ฟุตจากระดับน้ำทะเล จุดนี้อาจจะเป็นความล้มเหลวสำหรับนักปีนเขาสูงระดับโลก แต่จุดเดียวกันนี้อาจจะเป็นความสำเร็จของเด็ก คนแก่ หรือคนพิการก็ได้ จากตัวอย่างเหล่านี้ คงจะพออธิบายได้ว่าความสำเร็จของคนๆหนึ่งอาจจะเป็นจุดล้มเหลวของคนอื่นได้ ในทางกลับกัน จุดที่บางคนเรียกว่าความสำเร็จนั้นอาจจะเป็นจุดเดียวกันกับจุดที่คนอื่นเรียกกว่าล้มเหลวก็ได้ ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่าคำว่า “สำเร็จ” หรือ “ล้มเหลว” นั้นเป็นเพียงความหมายที่คนส่วนใหญ่ในสังคมสมมติกันขึ้นมา เช่น ถ้าใครจบการศึกษาสูงกว่าคนทั่วไปในสังคม สังคมก็มักจะบอกว่าเป็นความสำเร็จ ถ้าใครมีทรัพย์สินเงินทองสูงกว่าคนทั่วไปในสังคม สังคมก็จะบอกว่าเป็นความสำเร็จ ในทางกลับกัน ถ้าใครตั้งเป้าหมายว่าจะทำอะไร เท่าไหร่ เมื่อไหร่ ถ้าทำไม่ได้ เขาก็จะคิดว่าล้มเหลว ดังนั้น คำว่าสำเร็จหรือล้มเหลวจึงไม่ใช่ความจริงที่แท้จริง เป็นเพียงความจริงแบบสมมติ (ตามมุมมองของสังคม ตามมุมมองของแต่ละบุคคล) ถ้าเป็นความจริงที่แท้จริงทุกคนต้องตอบเหมือนกัน เช่น การสัมผัสกับไฟทุกคนจะตอบว่าร้อน ไม่มีใครตอบว่าเย็น เพราะมันคือความจริงที่แท้จริง เนื่องจากคำว่า “สำเร็จ” กับ “ล้มเหลว” เป็นคำที่อยู่ตรงกันข้ามแบบซ้ายสุดกับขวาสุด เป็นตัวชี้วัดประเภท “ได้กับตก” หรือ “YES กับ NO” หรือประเภท “ON กับ OFF” ไม่มีระดับย่อยของสองคำนี้ เช่น คนเราไม่ค่อยใช้คำว่า “สำเร็จมาก” “สำเร็จปานกลาง” “สำเร็จน้อย” “สำเร็จบางส่วน” “เกือบล้มเหลว” “เกือบสำเร็จ” “ล้มเหลวเล็กน้อย” “ล้มเหลวปานกลาง” ไปจนถึงไม่สำเร็จเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ คำสองคำนี้จึงมีอิทธิพลต่อชีวิตคนค่อนข้างมาก เพราะคนมักจะถูกตัดสินจากสังคมและตัวเองในเรื่องต่างๆว่า “สำเร็จ” หรือ “ล้มเหลว” เท่านั้น คนส่วนใหญ่มักจะยึดติดกับคำว่า “สำเร็จ” หรือ “ล้มเหลว” มากกว่าการกระทำ บางครั้งสิ่งที่เราทำนั้นเกือบจะได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เราก็ไม่เคยพูดว่า “เกือบสำเร็จ” เรามักจะบอกตัวเองว่า “ล้มเหลว” นอกจากนี้ คนเรามักตัดสินเรื่องต่างๆว่าสำเร็จหรือล้มเหลวโดยการเทียบกับมาตรฐานที่สังคมกำหนด เช่น คนที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษาต้องจบระดับใด ได้เกรดเฉลี่ยเท่าไหร่ ฯลฯ หรือไม่ก็เทียบกับเป้าหมายที่ตัวเองกำหนดขึ้นมา เช่น ต้องเก็บเงินให้ได้หนึ่งล้านบาทภายในหนึ่งปี ต้องเป็นผู้จัดการให้ได้ภายในสามปีหลังจากจบการศึกษา ฯลฯ ทำให้คนให้ความสำคัญกับผลต่างระหว่างสิ่งที่ทำได้กับมาตรฐานของสังคมหรือเป้าหมายของตัวเองมากเกินไป จนหลงลืมไปว่าสาระสำคัญของชีวิตอยู่ที่การกระทำตามที่ตั้งใจไว้มากกว่าผลที่เกิดขึ้น เพราะบางครั้งเราได้ทำบางสิ่งบางอย่างอย่างเต็มที่แล้ว แต่ผลที่ได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เราน่าจะภูมิใจกับสิ่งนี้ ไม่ใช่มัวแต่ไปเสียใจกับผลที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้ เช่น เราไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งทั้งๆที่เราได้ทำงานอย่างเต็มที่แล้ว ผลการเรียนออกมาต่ำกว่าที่เรากำหนดไว้ทั้งๆที่เราตั้งใจเรียนเต็มที่แล้ว ฯลฯ ดังนั้น ถ้าเรามัวแต่ไปยึดติดกับผลการตัดสินสุดท้ายมากเกินไป อาจจะทำให้เราต้องดิ้นรนเพื่อค้นหาคำว่า “สำเร็จ” และหลีกหนีคำว่า “ล้มเหลว” อยู่ตลอดเวลา จนบางครั้งทำให้เราหลงเดินทางไปในทางที่ผิด เพียงเพราะอยากจะประสบความสำเร็จ เช่น ต้องประจบเจ้านายเพื่อให้เราประสบความสำเร็จในหน้าที่การเงิน เราต้องลอกข้อสอบเพื่อให้ได้เกรดดี เราต้องโกงคนอื่นเพื่อให้มีเงินตามที่เราต้องการ ฯลฯ เพื่อป้องกันไม่ให้เราหลงใหลและติดใจไปกับคำว่า “สำเร็จ” หรือกลัวและไม่อยากเจอกับคำว่า “ล้มเหลว” มากเกินไป จึงขอแนะนำแนวทางในการปรับเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ดังนี้
สรุป คำว่า “ความสำเร็จ” และ “ความล้มเหลว” จึงไม่ใช่สิ่งที่แตกต่างกัน ไม่ใช่คนเรื่องกัน แต่เป็นเรื่องเดียวกัน เป็นจุดเดียวกัน เพียงแต่คนในแต่ละสังคม หรือแต่ละบุคคลนำไปใช้ตีความให้เกิดความแตกต่างกันขึ้นมาเท่านั้น ดังนั้น ถ้าเราอยากจะได้คำว่า “สำเร็จ” มากๆเราก็สามารถทำได้โดยการเปลี่ยนความหมายที่ใจของเรา ถ้าเราต้องการเตือนตัวเองไม่ให้ประมาท เราก็สามารถกำหนดความหมายของคำว่า “ล้มเหลว” ขึ้นมาได้ตลอดเวลาเช่นกัน เพราะคำทั้งสองคำนี้ไม่ใช่ความหมายที่แท้จริง แต่เป็นความหมายตามการสมมติของแต่ละคนแต่ละสังคมเท่านั้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าต่อไปนี้ ทุกท่านคงจะสามารถกำหนด “ความสำเร็จ” และ “ล้มเหลว” ได้ด้วยตัวเองได้ตลอดเวลาที่ต้องการนะครับ |
วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553
ความสำเร็จและความล้มเหลวคือจุดเดียวกัน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น