วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

10 กลโกรงทางอินเทอร์เน็ต

อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อที่ทำให้คนทั่วโลกสามารถติดต่อถึงกันได้แบบปฏิสัมพันธ์ 
กล่าวคือ ผู้รับและผู้ส่งข้อมูลสามารถสื่อสารและโต้ตอบข้อความกันได้ทันที ในรูปแบบมัลติมีเดีย 
อีกทั้งยังลดข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาและสถานที่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการทำธุรกิจ ผู้ซื้อ
และผู้ขายได้รับความสะดวกในการซื้อขายและการโฆษณาสินค้าหรือบริการ อินเทอร์เน็ตทำให้การประกอบ 
ธุรกิจผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือ “พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” มีประสิทธิภาพและได้รับความนิยมในปัจจุบันมากขึ้น 
 
อย่างไรก็ดี การใช้อินเทอร์เน็ตอาจจะถูกนำไปใช้ในแง่ลบเพื่อหลอกลวงบุคคล เช่นเดียวกันกับการซื้อขายตามปกติ 
เนื่องด้วยผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตในการทำธุรกรรม อาจไม่ทราบตัวบุคคลของผู้ที่ติดต่อว่าเป็นบุคคลใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
เมื่อไม่เคยพบเห็นกันมาก่อน 

ข้อมูล สถิติ 
       จากการศึกษาข้อมูล สถิติเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตเมื่อกลางปี พ.ศ. 2544 (อ้างอิงจาก Nua Internet Survey, สิงหาคม 2544) 
มีการประมาณการว่าจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกสูงถึง 513 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 8.46 ของประชากรทั่วโลก สำหรับ 
ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีจำนวนกว่า 144 ล้านคน สำหรับข้อมูลจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยระหว่างเดือนมกราคม 
ถึงมีนาคม 2544 สำรวจโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามี 
จำนวน 3.5 ล้านคน (http://ntl.nectec.or.th/internet) 
 
นอกจากนี้ รายงานสำรวจเรื่อง “การหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต” เมื่อปี พ.ศ. 2543 ของหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาที่ชื่อว่า 
“National Fraud Information Center” ซึ่งมีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าและบริการทาง 
อินเทอร์เน็ต พบว่าในช่วงครึ่งหลังของปีเดียวกัน มีการร้องเรียนเป็นจำนวนทั้งสิ้น 20,014 เรื่อง และเมื่อรวมมูลค่าความ 
เสียหายตลอดทั้งปีคิดเป็นเงิน 3,387,530 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือความเสียหายเฉลี่ยต่อบุคคลคิดเป็นจำนวนเงิน 427 ดอลลาร์ 
สหรัฐฯ เรื่องที่ได้รับการ้องเรียนมากที่สุด 5 ลำดับแรกคือ การประมูลสินค้าทางอินเทอร์เน็ต (Internet Auctions) (78%), 
การซื้อสินค้าทั่วไป (10%), การให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Access Services) (3%), การประกอบธุรกิจที่บ้าน 
(Work-At-Home) (3%) และการให้สินเชื่อล่วงหน้า (Advance Fee Loans) (2%) ตามลำดับ และจากการสำรวจในปี 2544 ที่ผ่านมา 
พบว่าผู้บริโภคได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงิน 4,371,724 ดอลลาร์สหรัฐฯ 
 
การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการหลอกลวงมีหลายวิธีการ ตั้งแต่วิธีการดั้งเดิมที่อาจพบโดยทั่วไปไปจนถึงวิธีการที่ 
สลับซับซ้อน ผู้หลอกลวงใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ 
สาธารณชน แม้ว่าผู้บริโภคจะมีความรู้ทางเทคโนโลยี แต่ก็อาจไม่รู้เท่าทันหรือไม่ทราบถึงวิธีการหลอกลวงดังกล่าว จึง 
อาจได้รับความเสียหายได้ ดังนั้นการทำความเข้าใจถึงรูปแบบของการหลอกลวงที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือและเสนอ 
แนะวิธีป้องกันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคทำให้สามารถป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ 
กับทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้ดียิ่งขึ้นด้วย 

1. การประมูลสินค้าทางอินเทอร์เน็ตโดยหลอกลวง (Internet Auction Fraud) 
       การโฆษณาขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ตด้วยวิธีการประมูลสินค้า ผู้ซื้อที่สนใจจะเข้าร่วมการประมูลมักต้องลงทะเบียนเป็น 
สมาชิกของเว็บไซต์นั้นๆ ซึ่งโดยทั่วไปจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หลังจากนั้นจะได้รับหมายเลขสมาชิกและรหัสผ่าน (password) 
ผู้ซื้อจะต้องเสนอราคาซื้อแข่งขันกับผู้ซื้อรายอื่น เมื่อเสร็จสิ้นการประมูลถือว่ามีการทำสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ประมูลและผู้ 
เสนอขาย โดยจะมีการส่งข้อความทางอีเมล์ (e-mail) แจ้งให้ผู้ซื้อและผู้ขายทราบผลการประมูล และแจ้งรายละเอียดที่จะติด 
ต่อกันได้ เพื่อให้ทั้งฝ่ายผู้ซื้อขและผู้ขายติดต่อกันในเรื่องการชำระเงินและการส่งมอบสินค้า 
 
ลักษณะการหลอกลวง : 
       การประมูลสินค้าทางอินเทอร์เน็ต เป็นวิธีการซื้อขายสินค้าที่ได้รับความนิยม และเป็นช่องทางการติดต่อซื้อขายสินค้าที่ 
สะดวกรวดเร็ว ในรายงานสำรวจที่กล่าวมาแล้วของบางประเทศพบว่า เป็นวิธีการหลอกลวงที่พบมากที่สุดเช่นกัน การหลอกลวง 
มีหลายรูปแบบ เช่น ผู้ขายไม่ส่งมอบสินค้าที่ผู้ซื้อประมูลได้ เพราะไม่มีสินค้าอยู่จริง, การหลอกลวงโดยการปั่นราคาซื้อขาย 
ผู้ขายหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ขายจะเข้าเสนอราคาเพื่อประมูลสินค้าของตน เพื่อให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น ทำให้ผู้ซื้อต้องซื้อ 
สินค้าในราคาที่สูงเกินจริง เป็นต้น 
 
ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ : 
       ผู้ซื้อได้ชำระค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายแล้ว แต่ยังไม่ได้รับสินค้า หรือได้รับสินค้าที่ชำรุดเสียหาย หรือเป็นสินค้าที่มีลักษณะ 
ไม่ตรงกับที่มีการเสนอขายแต่แรก ด้านผู้ให้บริการประมูลทางอินเทอร์เน็ตเองก็อาจได้รับความเสียหาย เพราะผู้ใช้บริการ 
(ผู้ซื้อและผู้ขาย) ไม่ให้ความไว้วางใจและไม่ใช้บริการ 
 
วิธีการป้องกัน : 
       ผู้ซื้อควรตรวจสอบว่าเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการด้านการประมูลทางอินเทอร์เน็ต (คนกลาง) มีวิธีการระบุตัวบุคคลที่ 
เป็นผู้ขาย (หรือผู้ซื้อ) ดีพอหรือไม่ กล่าวคือมีการเก็บประวัติ รายละเอียดของผู้ขาย ที่สามารถติดต่อได้ หรือพิจารณาว่าผู้ให้ 
บริการด้านการประมูลทางอินเทอร์เน็ต (คนกลาง) มีนโยบายการประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 
สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง 

2. การให้บริการอินเทอร์เน็ตโดยหลอกลวง (Internet Service Provider Scams) 
       ผู้หลอกลวงจะส่งเช็คจำนวนหนึ่ง (เช่นราว 3.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ให้แก่ผู้ใช้บริการ เมื่อมีการเบิกเงินตามเช็คแล้ว ก็ถือว่าผู้ 
บริโภคตกลงที่จะใช้บริการของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider - ISP) ที่ได้รับแจ้ง ในการนี้อาจจะไม่มีการ 
แจ้งค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ และมักเป็นการทำสัญญาให้บริการอินเทอร์เน็ตที่มีระยะเวลานาน ผู้หลอกลวงจงใจให้ผู้ 
บริโภคหรือผู้ใช้บริการเกิดความสับสนและเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการบริการนั้น กล่าวคือเมื่อผู้บริโภคเข้าทำสัญญา 
ดังกล่าวแล้วจะถือว่ายินยอมตามเงื่อนไขทุกประการที่ระบุไว้ การหลอกลวงดังกล่าวนี้มักพบในประเทศที่มีผู้ให้บริการ 
อินเทอร์เน็ตหลายรายและมีบริการที่หลากหลาย 
 
ลักษณะการหลอกลวง : 
       ผู้บริโภคถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการต่างๆ จากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ ยังอาจจะมีคำขู่ที่กล่าวว่าถ้าหากผู้ใช้บริการ 
ต้องการเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดสัญญา จะถูกปรับเป็นจำนวนเงินที่สูง 
 
ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ : 
       ผู้บริโภคถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการต่างๆ จากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ ยังอาจจะมีคำขู่ที่กล่าวว่าถ้าหากผู้ใช้บริการ 
ต้องการเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดสัญญา จะถูกปรับเป็นจำนวนเงินที่สูง 
 
วิธีการป้องกัน : 
       เมื่อผู้บริโภคได้รับเช็คโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนแล้ว ไม่ควรทำข้อตกลงใดๆ กับบุคคลอื่น แต่ควรศึกษารายละเอียด 
ของเอกสารหรือข้อตกลงที่ส่งมาโดยถี่ถ้วน ตรวจสอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะถูกเรียกเก็บให้ครบถ้วน และควรติดต่อผู้ให้ 
บริการอินเทอร์เน็ตโดยตรง 

3. การใช้บัตรเครดิตโดยไม่ได้รับอนุญาต (Credit Card Fraud) 
       การชำระค่าสินค้า ค่าบริการทางอินเทอร์เน็ตที่ได้รับความนิยมที่สุดวิธีหนึ่งคือ การชำระเงินด้วยบัตรเครดิต เนื่องจากมี 
ความสะดวกแก่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ผู้ซื้อสามารถชำระเงินโดยการให้ข้อมูลบัตรเครดิตคือ หมายเลขบัตรเครดิต ชื่อ-สกุลของ 
ผู้ถือบัตร และวันหมดอายุแก่ร้านค้า ร้านค้าสามารถตรวจสอบได้เพียงว่า บัตรดังกล่าวเป็นบัตรที่ออกโดยผู้ออกบัตรจริง 
แต่ไม่สามารถตรวจสอบตัวบุคคลผู้ใช้บัตรได้ว่าเป็นบุคคลใด 
 
ลักษณะการหลอกลวง : 
       วิธีการหลอกลวงเกี่ยวกับการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตทางอินเทอร์เน็ตมีหลายวิธี ตัวอย่างเช่น การให้บริการดูภาพลามก 
อนาจารโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป (ตามกฎหมายสหรัฐอเมริกา) แต่ผู้บริโภคต้องแจ้ง 
ข้อมูลบัตรเครดิตให้ผู้ให้บริการทราบ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล แล้วผู้หลอกลวงจะใช้ข้อมูลนี้ไปกระทำผิดในที่อื่น 
 
ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ : 
       ผู้ถือบัตรที่เป็นผู้บริโภคถูกเรียกเก็บเงินค่าสินค้าหรือบริการจากบริษัทหรือธนาคารผู้ออกบัตร ทั้งที่ผู้ถือบัตรไม่ได้ใช้บัตร 
เครดิตชำระรายการนั้นๆ เลย ซึ่งกฎหมายบางประเทศจะให้ความคุ้มครองผู้ถือบัตรในกรณีนี้ หรือผู้ถือบัตรรับผิดไม่เกิน 
จำนวนเงินที่กำหนดไว้ในข้อตกลงระหว่างผู้ออกบัตรและผู้ถือบัตร 
 
วิธีการป้องกัน : 
       ผู้ถือบัตรเครดิตไม่ควรแจ้งข้อมูลบัตรเครดิตให้บุคคลอื่นทราบ แต่หากต้องมีการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตทางอินเทอร์เน็ต 
ก็ควรเลือกร้านค้าที่มีความน่าเชื่อถือ หรือมีหลักแหล่งที่แน่นอนสามารถติดต่อได้ หรือผู้บริโภคอาจเลือกใช้บัตรที่มีวิธีการ 
ตรวจสอบตัวบุคคลผู้ใช้บัตรว่าเป็นผู้ถือบัตร เช่น การใช้รหัสประจำตัว (PIN) หรือรหัสใดๆ ที่ไม่ปรากฎอยู่บนบัตร แต่ถือ 
เป็นข้อมูลส่วนตัวของผู้ถือบัตรที่ไม่เปิดเผยให้บุคคลอื่นทราบ นอกจากนี้ ผู้ถือบัตรควรตรวจดูข้อตกลงที่ทำไว้กับผู้ออกบัตร 
ด้วยว่ามีเงื่อนไขความรับผิดชอบอย่างไร 

4. การเข้าควบคุมการใช้โมเดมของบุคคลอื่น (International Modem Dialing/ Modem Hijacking) 
ลักษณะการหลอกลวง : 
       การโฆษณาการให้บริการสื่อลามกอนาจารโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ผู้ใช้บริการจะต้องติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อดู 
ภาพดังกล่าวหรือเรียกว่า ‘viewer’ หรือ ‘dialer’ ของผู้ให้บริการ เมื่อผู้ใช้บริการเปิดดูภาพด้วยโปรแกรมข้างต้นแล้ว การทำงาน 
ของโปรแกรมดังกล่าวจะเริ่มเมื่อมีการใช้เครื่องโมเดม (modem) ในขณะเดียวกันโปรแกรมฯ จะควบคุมการทำงานของโมเดม 
และสั่งให้หยุดการทำงานโดยที่ผู้ใช้บริการไม่รู้ตัว แล้วจะสั่งให้มีการต่อเชื่อมผ่านโมเดมอีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นการใช้โทรศัพท์ 
ทางไกลจากที่ใดที่หนึ่ง แล้วมีการใช้อินเทอร์เน็ตอีกครั้งจากที่นั้น เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถดูเว็บไซต์ 
 
ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ : 
       ผู้ใช้บริการจะถูกเรียกเก็บเงินค่าโทรศัพท์ทางไกลจำนวนมาก ทั้งที่ผู้ใช้บริการอาจไม่รับรู้ ซึ่งเป็นเพราะมีบุคคลอื่น 
ลักลอบใช้โทรศัพท์โดยอาศัยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าว 
 
วิธีการป้องกัน : 
       ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงไม่ติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สำหรับการให้บริการใดๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูเว็บไซต์ที่มีข้อมูลภาพลามกอนาจาร และควรตรวจสอบเงื่อนไขและค่าใช้จ่ายต่างๆ ถ้าพบสิ่งผิดปกติ 
ต้องแจ้งระงับการใช้งานกับผู้ให้บริการทันที นอกจากนั้น ผู้ใช้บริการควรตรวจสอบใบแจ้งหนี้ค่าบริการโทรศัพท์อย่างสม่ำเสมอ 

5. การหลอกลวงให้ใช้บริการเกี่ยวกับเว็บไซต์ (Web Cramming) 
ลักษณะการหลอกลวง : 
       การหลอกลวงว่ามีการให้บริการเปิดเว็บเพจ (web page) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เช่นการเปิดเว็บเพจเป็นเวลา 30 วัน 
และไม่มีข้อผูกพันใดๆ ถ้าไม่ใช้บริการต่อไป 
 
ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ : 
       เมื่อมีการตกลงใช้บริการดังกล่าวแล้ว ผู้ใช้บริการจะถูกเรียกเก็บเงินค่าใช้บริการโทรศัพท์ หรือค่าใช้บริการในการมี 
เว็บเพจ (ค่าธรรมเนียมการใช้พื้นที่) เป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ตนไม่เคยใช้บริการหรือไม่ได้สมัครแต่อย่างใด ผู้ใช้บริการยังไม่ 
สามารถแจ้งให้ผู้ให้บริการยกเลิกได้ทันทีอีกด้วย 
 
วิธีการป้องกัน : 
       ผู้บริโภคควรตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ให้บริการ และเลือกใช้บริการที่มีความน่าเชื่อถือเท่านั้น (กรณีนี้มักพบใน 
ประเทศที่มีผู้ให้บริการโทรศัพท์จำนวนมากเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น) 

6. การหลอกลวงโดยใช้การตลาดหรือการขายแบบตรง (Multilevel Marketing Plans/ Pyramids) 
ลักษณะการหลอกลวง : 
       การหลอกลวงในลักษณะนี้คล้ายคลึงกับการนำสื่อโฆษณาในการทำตลาดหรือการขายตรง โดยมีการชักชวนให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมเป็น
สมาชิกในเครือข่ายธุรกิจ โดยการกล่าวอ้างว่าผู้ขายจะได้รับสิทธิในการจำหน่ายสินค้าหลายชนิด และได้รับผลประโยชน์จากการขายสินค้า
หรือชักชวนบุคคลอื่นเข้ามาเป็นตัวแทนขายตรง เป็นทอดๆ ทำให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์จริงมีจำนวนน้อยราย 
 
ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ : 
       ผู้บริโภคที่เข้าร่วมเครือข่ายจะต้องชำระค่าสมาชิกจำนวนหนึ่ง แต่จะไม่มีรายได้ประจำแต่อย่างใด รายได้ของผู้บริโภค
จึงไม่แน่นอนและมักจะไม่ได้รับผลประโยชน์ตามที่ผู้หลอกลวงกล่าวอ้าง เพราะไม่สามารถขายสินค้าได้ตามเป้าหมาย 
 
วิธีการป้องกัน : 
       ผู้บริโภคควรระมัดระวังในการสมัครเป็นสมาชิกหรือตัวแทนจำหน่ายสินค้า ที่ต้องหาสมาชิกรายอื่นเพิ่มขึ้นหรือต้อง 
จำหน่ายสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูงให้ได้ตามยอดจำหน่ายที่กำหนด เพราะอาจถูกหลอกลวงได้ 

7. การหลอกลวงโดยเสนอให้เงินจากประเทศไนจีเรีย (Nigerian Money Offers) 
ลักษณะการหลอกลวง : 
       ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะได้รับข้อความจากจดหมายหรืออีเมล์ (e-mail) จากบุคคลที่กล่าวอ้างว่ามีความสำคัญในประเทศไนจีเรีย 
เพื่อขอช่วยเหลือในการโอนเงินจำนวนมากไปยังต่างประเทศ โดยผู้บริโภคจะได้รับเงินส่วนแบ่งจำนวนนับล้านเหรียญ 
ดอลลาร์สหรัฐฯ 
       ข้อความในจดหมายหรืออีเมล์มีเนื้อหาทำนองว่า ประชาชนในประเทศไนจีเรียไม่สามารถเปิดบัญชีเงินฝากในต่างประเทศ 
หรือโอนเงินออกนอกประเทศที่มีมูลค่าราว 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ หรือรัฐบาลไนจีเรียต้องการทำธุรกิจกับชาวต่างชาติ 
จึงต้องการความช่วยเหลือจากชาวต่างชาติในการเปิดบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันที่เบิกด้วยเช็ค ซึ่งท่านจะได้รับค่า 
ตอบแทนหรือค่านายหน้า ผู้บริโภคเพียงแต่แจ้งรายละเอียดของบัญชีเงินฝากของตน และกรอกเอกสารพร้อมทั้งลงลายมือชื่อ 
ของเจ้าของบัญชีเท่านั้น 
 
ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ : 
       เมื่อมีการแจ้งข้อมูลบัญชีเงินฝากแล้ว ผู้บริโภคจะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตลอดเวลา 
โดยให้ผู้บริโภคโอนเงินเข้าบัญชีที่แจ้งไว้ ผู้ที่หลอกลวงจึงสามารถเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวได้โดยอ้างเอกสารมอบอำนาจของเจ้า 
ของบัญชี แต่การโอนเงินลักษณะนี้อาจทำไม่ได้ในประเทศไทย เว้นแต่จะเป็นการโอนเงินระหว่างบัญชีของธนาคารเดียวกัน 
ทางอินเทอร์เน็ต 
 
วิธีการป้องกัน : 
       ผู้บริโภคไม่ควรหลงเชื่อบุคคลอื่นที่อ้างตัวและเสนอจะให้ผลประโยชน์จำนวนมหาศาลโดยไม่มีความเสี่ยงเช่นนี้ และ 
ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลบัญชีธนาคารของตนแก่ผู้อื่นด้วย 

8. การหลอกลวงให้ประกอบธุรกิจที่บ้าน (Work-at-Home) 
ลักษณะการหลอกลวง : 
       บริษัทที่หลอกลวงจะเชิญชวนให้ผู้ต้องการประกอบธุรกิจทางอินเทอร์เน็ตหรือธุรกิจด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อทำธุรกิจ โดยผู้บริโภคมีเพียงเครื่องคอมพิวเตอร์และสามารถใช้อินเทอร์เน็ตจากที่บ้านได้ และมักอ้าง 
ว่าธุรกิจประเภทนี้เป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ผู้บริโภคจะไม่ได้รับคำแนะนำในการทำธุรกิจ ไม่มีข้อมูลธุรกิจ 
ที่ชัดเจนหรือไม่ทราบว่าตนอาจไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ เลย ผู้ถูกหลอกลวงจะถูกเรียกเก็บเงินค่าสมาชิกหรือซื้ออุปกรณ์ที่ 
จำเป็นเพื่อเริ่มทำธุรกิจ 
 
ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ : 
       ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนตามที่มีการกล่าวอ้าง และอาจต้องสูญเสียเงินจากการลงทุนอีกด้วย 
 
วิธีการป้องกัน : 
       ผู้ที่ต้องการลงทุนหรือต้องการเป็นเจ้าของกิจการ ควรศึกษาหรือสอบถามรายละเอียดของประเภทธุรกิจที่จะลงทุนการจ่าย 
เงินค่าตอบแทนที่ผู้บริโภคจะได้รับ ที่มีกำหนดเวลาที่แน่นอนรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่จะต้องจ่ายในการเริ่มต้นทำธุรกิจ 
และผู้บริโภคควรระวังไม่หลงเชื่อคำเชิญชวนของผู้ที่อ้างว่าเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้จำนวนมากภายในระยะเวลาสั้นๆ 

9. การหลอกลวงให้จดทะเบียนโดเมนเนม (Domain name registration scams) 
ลักษณะการหลอกลวง : 
       ผู้ที่ต้องการทำธุรกิจทางอินเทอร์เน็ตที่ต้องการมีเว็บไซต์และโดเมนเนมของตนเอง จะได้รับการเสนอแนะว่า ท่านสามารถ
ได้รับสิทธิในการจดทะเบียนโดเมนเนมในระดับบนที่เรียกว่า “Generic Top-Level Domain’ หรือ gTLD ได้แก่ .com, .org, .net, 
.int, .edu, .gov, .mil, .aero, .biz, .coop, .info, .museum, .name, and .pro เป็นต้น ก่อนบุคคลอื่น และถูกเรียกเก็บ
ค่าธรรมเนียมในการจองโดเมนเนมที่ต้องการ ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีการให้บริการในลักษณะดังกล่าว 
 
ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ : 
       ผู้ที่หลงเชื่ออาจได้รับความเสียหายเพราะได้ชำระเงินให้แก่ผู้ที่หลอกลวง โดยไม่ได้รับสิทธิหรือประโยชน์ตามที่กล่าวอ้าง 
 
วิธีการป้องกัน : 
       หลีกเลี่ยงการใช้บริการการขอจดทะเบียนโดเมนเนมล่วงหน้า ที่ให้การรับรองว่าจะได้รับสิทธิ ในการเลือกโดเมนเนมประเภทนี้ (gTLD) 
ก่อนบุคคลอื่น และไม่ควรหลงเชื่อคำโฆษณา ควรติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการยื่นขอจดทะเบียนจากผู้รับจดทะเบียนที่ได้รับสิทธิภายใน ประเทศ
หรือเว็บไซต์ของ ICANN (Internet Corporation for Assigned Names and Numbers) (www.icann.org) ควรใช้บริการจดทะเบียนโดเมนเนมกับหน่วยงาน
ที่น่าเชื่อถือ เช่น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต, บริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือใช้บริการของ “ศูนย์สารสนเทศ
เครือข่ายแห่งประเทศไทย” (Thailand Network Information Center – THNIC) (www.thnic.net) 

10. การหลอกลวงโฆษณาหรือขายยามหัศจรรย์ (Miracle products) 
ลักษณะการหลอกลวง : 
       การโฆษณาหรือขายยาทางอินเทอร์เน็ตที่อ้างสรรพคุณว่าสามารถรักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง, 
โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV/AIDS), โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ หรือสามารถบรรเทาความเจ็บป่วยได้ภายในระยะเวลาอันสั้น และมักอ้างว่ายาเหล่านี้
ได้รับการรับรองหรือการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้ว 
 
ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ : 
       ผู้ป่วยที่ซื้อยาดังกล่าวโดยเชื่อว่าสามารถรักษาความเจ็บป่วยได้ อาจต้องสูญเสียเงินหรือโอกาสในการได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง 
นอกจากนั้น ยังอาจได้รับอันตรายจากการใช้ยาเหล่านั้นด้วย 
 
วิธีการป้องกัน : 
       การใช้ยารักษาโรคควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น 
 
สรุป รูปแบบของการหลองลวง (Type of fraud)
  1. การประมูลสินค้าทางอินเทอร์เน็ต (Internet Auction Fraud)
    ของถูก ของดี น่าซื้อ : ปั่นราคา ไม่มีสินค้า 
  2. การให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider Scams) 
    ให้บริการอินเทอร์เน็ตถูก : เรียกเก็บค่าบริการ ถ้าเลิกก่อนกำหนดต้องถูกปรับ 
  3. การใช้บัตรเครดิตโดยไม่ได้รับอนุญาต (Credit Card Fraud) 
    บริการภาพโป๊ แค่ถามเลขบัตรเครดิตก็ดูได้ : เขาเอาข้อมูลไปใช้จ่าย 
  4. การเข้าควบคุมการใช้โมเดมของบุคคลอื่น (International Modem Dialing/ Modem Hijacking)
    เปิดดูภาพโป๊ และมีโปรแกรมพิเศษ : หลอกให้โทรทางไกล 
  5. การหลอกลวงให้ใช้บริการเว็บไซต์ (Web Cramming) 
    ให้บริการเว็บเพจฟรี : ตอนหลังเรียกเก็บเงิน เลิกก็ยาก 
  6. การหลอกลวงโดยใช้การขายแบบตรง (Multilevel Marketing Plans/ Pyramids)
    เป็นเศรษฐีได้ง่าย : ต้องจ่ายก่อน ไม่มีอะไรรับรองว่ารวย 
  7. การหลอกลวงโดยเสนอให้เงินจากไนจีเรีย (Nigerian Money Offers) 
    มีเงินให้หลายสิบล้านจากนักการเมืองต่างชาติ : แค่โอนเงินสัก 2 หมื่นเป็นค่าดำเนินการ 
  8. การหลอกลวงให้ประกอบธุรกิจที่บ้าน (Work-at-Home) 
    เป็นเสือนอนกินอยู่บ้าน : แต่ไม่เป็นดังฝัน 
  9. การหลอกลวงให้จดทะเบียนโดเมนเนม (Domain name registration scams) 
    จดโดเมนถูก หรือฟรี : แต่ท่านไม่ใช่เจ้าของ หรือถูกเรียกเก็บเงินภายหลัง 
  10. การหลอกลวงโฆษณาหรือขายยามหัศจรรย์ (Miracle products) 
    ยาวิเศษ : ไม่หาย แถมอันตราย เพราะรักษาไม่ทัน
ที่มา : http://www.thaiall.com/article/10method.htm























































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น